ภาพอาหารที่ดูเหมือนจริง (Realistic) ของ พีรนันท์ จันทมาศ มีแรงดึงดูดสูงมากในทันที สามารถลวงตาให้เชื่อได้อย่างเสมือนจริง ด้วยการให้ความสำคัญกับรายละเอียดที่มากกว่าตาเห็น จากเทคโนโลยีของกล้องถ่ายรูปที่บันทึกได้ ก่อนจะถูกแปลผ่านวิจารณญาณทางจิตรกรรมอีกครั้ง เรียกว่าโฟโต้เรียลลิสต์ (Photorealist) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ต้องใช้ความเพียรในการทำงานด้วยสมอง ตา ใจ อย่างประสานสัมพันธ์กันจนเป็นอัตโนมัติ (Automatic) คือเกิดเป็นภาวะสมาธิจากการสะสมประสบการณ์ จากการปฏิบัติและสัมฤทธิ์ผลออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมที่เหมือนจริงอย่างตาเห็นและอย่างที่ใจเห็น
ความงามของศิลปะบางอย่าง หมายรวมถึงกระบวนการที่เกิดด้วย (Process Art) คือ “วิธีการที่ดีย่อมนำไปสู่เป้าหมายที่ดี” ซึ่งตรงกับคำกล่าวของโจเซฟ โคซุส (Joseph Kosuth ค.ศ. 1945) ศิลปินคอนเซ็ปชวลลิสท์ (Conceptualist) ได้ประกาศไว้ในปี 1969 ว่า ศิลปะทั้งหมด (หลัง ดูชองป์ Ducump) เป็นคอนเซ็ปชวล เพราะศิลปะเกิดขึ้นได้จากแนวความคิด ระเบียบขั้นตอน กลายเป็นเนื้อหาสาระสำคัญที่สุดแห่งความสัมฤทธิ์ผลของงาน ดังนั้นวิทยานิพนธ์จิตรกรรมของ พีรนันท์ จันทมาศ เรื่อง “นัยยะแฝงภายใต้วัฒนธรรมการบริโภค” นี้ เป็นการทำงานสร้างสรรค์ด้วยขั้นตอนที่เป็นระเบียบมีประสิทธิภาพมากคือ เริ่มจากการถ่ายภาพและเลือกภาพตามแนวความคิด แล้วกำหนดมาตราส่วนขยายจากภาพถ่ายด้วยความเที่ยงตรงของลักษณะรูปทรง ขนาดสัดส่วน ระยะใกล้ไกล รวมถึงภาวะทางนามธรรมของวัตถุเช่น สีสัน ความแห้ง แข็ง อ่อน นุ่ม เหลว ใส ลักษณะไขมัน ความรู้สึกถึงกลิ่น รส ความร้อน กระทั่งเวลาที่จำเพาะของต้นแบบ ด้วยความเที่ยงตรงแม่นยำของทักษะขั้นสูง เป็นกระบวนการของความเพียรที่ถูกอัดแน่นด้วยความละเอียดอ่อน เพื่อที่จะบอกถึงนัยยะแฝง ภายใต้วัฒนธรรมการบริโภคที่เป็นเรื่องเคยชิน เป็นปกติธรรมดา โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าธรรมดาแต่สำคัญต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ และมนุษย์ทั้งโลกก็ให้ความสำคัญกับการกินอาหารในหลากหลายมิติ เช่น กินเพื่อรักษาโรค กินเพื่อกระตุ้นจินตนาการ กระตุ้นอารมณ์ กินเพื่อแยกฐานะชนชั้นทางสังคมด้วยรสนิยม ด้วยราคา ด้วยวัตถุดิบที่เหลือน้อยในโลก ด้วยที่มาที่ไปของวัตถุดิบที่ซับซ้อน
ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม อาหาร ได้ถูกปรุงขึ้นแล้ว ด้วยพฤติกรรมทางสังคมของมนุษย์ซึ่งมีนัยยะแฝงเร้น ในทางกลับกันเราก็สามารถเรียนรู้นัยยะแฝงของอาหารที่วางอยู่ตรงหน้าได้ ด้วยการพิจารณาอย่างพิถีพิถันถึงสถานที่และเวลา ลักษณะทางภูมิศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม รูป รส กลิ่น สี อารมณ์อาหารที่นุ่มลิ้น กรอบนอกนุ่มใน ลักษณะเศษ คราบ ร่องรอย เนื้อใน ซาก ขา ตับ เลือด สุก ดิบ หรือคำตอบที่ปรุงแต่งไปถึงการพิจารณาความหยาบ ละเอียด ตื้น ลึกของจิตใจ หรือไปถึงสัญชาตญาณใดของมนุษย์ก็ตาม ย่อมได้รับคำตอบที่แฝงอยู่อย่างชี้นำในงานศิลปะของ พีรนันท์ จันทมาศ เช่นกัน เพราะศิลปะถูกสร้างจากกระบวนการของแนวความคิดที่แยบยลภายใต้ทัศนทางความงามของการคร่าชีวิตที่เป็นเนื้อเดียวกันกับการมีชีวิต
Text : ธณฤษภ์ ทิพย์วารี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น