The way to art "เส้นทางสู่ศิลปะ"

The way to art "เส้นทางสู่ศิลปะ"
นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย "The way to Art" เส้นทางสู่ศิลปะ โดย นักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการแสดงความรู้ความสามารถทางการศึกษาหลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาในระดับศิลปมหาบัณฑิต และในปี 2553 นี้ ภาควิชาได้คัดเลือกนักศึกษา 10 คน ได้แก่ นักรบ กระปุกทอง , รณชัย กิติศักดิ์สิน , เกรียงไกร กุลพันธ์ , สุเมธ พัดเอี่ยม , สุนทรี เฉลียวพงษ์ , พีรนันท์ จันทมาศ , วรรณพล แสนคำ , ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท , พิเชษฐ บุรพธานินทร์และวัลลภัคร แข่งเพ็ญแข อันมีผลงานการสร้างสรรค์ที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อตนเองและสภาพสังคมในปัจจุบัน ปัญญาแห่งการเรียนรู้ และเป็นการเผยแพร่ผลงานที่มีคุณค่าออกสู่สายตาสาธารณะชน

THE WAY TO ART

นิทรรศการเส้นทางสู่ศิลปะ The way to art มีกำหนดการแสดงผลงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 4 ห้อง Stodio ในวันพฤหัสที่ 21 เมษายน ถึง วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2554

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ภาวะแห่งจิตปรารถนา


ภาวะแห่งจิตปรารถนา




ธรรมชาติมีปฏิสัมพันธ์กันกับมนุษย์อย่างแยกไม่ออก ในขณะที่ชีวิตต้องดำเนินไปตาม กฎเกณฑ์ ของธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์ต้องสัมผัสอยู่ตลอดเวลา คือ กิเลส ที่คอยมาเย้ายวน อารมณ์ให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ธรรมชาติได้ออกแบบให้ทุกๆสรรพชีวิตให้เกิดแรงขับ ในการดำรงชีพและสืบพันธ์ สิ่งที่ติดมากับความงามด้านกายภาพนั้น มักจะแฝงความรู้สึกควบคู่กันกับ “สัญญะ” นั้นๆ เช่น ความสวยงามเอาไว้ดึงดูด หรือความน่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ป้องกันตนเอง
ที่กล่าวมาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ที่ใช้รูปทรง รูปร่าง ลักษณะบางประการในธรรมชาติมาหยิบจับผสมผสานกับความคิดและมุมมองที่ลึกซึ้ง ทำให้เกิดการรับรู้ใหม่ เป็นความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เปรียบเทียบ ที่สะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่เรามองข้าม โดย สุเมธ พัดเอี่ยม กับผลงานชุด ภาวะแห่งจิตปรารถนา






สุเมธได้นำเอาความงามและความไม่งามทางด้านกายภาพ โดยอาศัยข้อมูลจากธรรมชาติมาบวกกับความรู้สึกภายใน เพื่อให้เกิดรูปทรงใหม่และแฝงนัยยะทางเพศ ทำให้เห็นถึงการพรางตัว การล่อเหยื่อให้ติดกับดัก เพราะรูปลักษณ์ภายนอก เป็นผัสสะแรกที่เป็นตัวล่อความอยากของกิเลสทุกชนิด ซึ่งตัวศิลปินเองมีความสะเทือนใจและมีทัศนะคติต่อเรื่องเหล่านี้ จึงได้หยิบยกมาเป็นประเด็นในการสร้างสรรค์งาน เพราะต้องการสะท้อนให้ผูคนได้พึงระลึกนึกถึงสัจธรรมอะไรบางอย่างในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ว่าด้วยเรื่องของ กิเลส ตัณหา ราคะ ที่มองแต่รูปลักษณ์ภายนอก โดยมิได้แสวงหาแก่นสารสาระในเบื้องลึกของจิตใจ จนเกิด โมหะ (ความหลง) โมหะนั้นเป็นปัจจัยแรกเริ่มที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาจากการเห็นผิดเป็นชอบ ขาดการนึกคิดหรือไตร่ตรองดูอารมณ์ที่เข้ามาปะทะกับ จิต ในทางตรงกันข้ามกลับปลดปล่อยความรู้สึกที่แฝงมากับอารมณ์ปรารถนาให้อ่อนไหวไปกับกิเลส จนเพิ่มเป็น เวทนา ตัณหา อุปปาทาน เป็นผลสะท้อนกลับมายังความทุกข์ของตัวเราเอง

"ภายใต้กฎเกณฑ์ของธรรมชาติที่อาศัยสองสิ่งที่เป็นตัวผลักดันคือ การดำรงอยู่และสืบพันธ์ สองสิ่งนี้เป็นเหตุให้จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ต้องเดินทางโดยเปรียบเสมือนวงล้อที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ธรรมชาติเองก็ได้สร้างสรรค์สิ่งสวยงามไว้มากมายแต่ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นเพียงมายาคติที่ลวงหลอกให้เราติดกับดักทางอารมณ์ความรู้สึกจนตกเป็นทาสของกิเลส"

"การป้องกันตัว(การดำรงอยู่)และสืบพันธ์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องอาศัยอายตนะ (ช่องทางการรับรู้) โดยเล่นกับกิเลส ปรุงแต่งให้เกิดมายาภาพลวงและถูกทำให้เชื่อว่า ภาวะนั้นมีอยู่จริง เกิดความหลงเป็นเหตุให้ จิต ของผู้ที่อ่อนแอได้ปลดปล่อยตัวเอง ปล่อยให้สัญชาตญาณมาอยู่เหนือปัญญาญาณการรู้คิด ให้หลงไปกับกิเลสมายาภาพซึ่งทำให้จิตยึดเกาะไว้อย่างแน่นหนา หากไม่มีภาวะกิเลสชนิดต่างๆมาปรุงแต่งแล้ว เราจะไม่เกิดทุกข์แต่จะเกิด “ความว่าง”ความว่างนี้หมายถึงความไม่แน่นอนและไม่ถาวรของรูป เพราะรูปคือ “มายา” เมื่อใดที่จิตไม่ปรุงแต่งไปกับ กิเลส และ รูป มายาคติเหล่านั้นก็จะหายไป"...สุเมธ





*หมายเหตุ ชื่องาน ขนาด เทคนิค จะตามลงให้ในภายหลัง*

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น