ถักสิ่งทอ - ซ้อนจิตรกรรม
คุณแม่ของสุนทรีเย็บและถักข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน และก็ไม่ลืมที่จะสอนลูกสาวด้วย สุนทรีจึงได้วิชางานถักมาจากคุณแม่ ก่อนที่จะมาเริ่มใช้ทักษะนี้ในการสร้างผลงานศิลปะ สุนทรีเล่าให้ฟังว่า การถักทำให้เธอมีสมาธิและคิดถึงสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเธอน้อยลง แม้เธอจะบอกว่า การถักทำให้เธอรู้สึก “ว่าง” ในระหว่างปฏิบัติงาน แต่ผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ก็ซ่อนนัยยะที่สำคัญไว้หลายประการ ดังนี้
ประการแรก ผลงานของเธอไม่ใช่งานจิตรกรรมที่ใช้เทคนิคการถัก และก็ไม่ใช่งานศิลปะสิ่งทอ (Textile Arts) ที่เอามาขึงไว้บนกรอบรูป ดิฉันเห็นว่า ผลงานของสุนทรีเป็นการผสมนัยยะระหว่างศิลปะสิ่งทอและจิตรกรรม ศิลปะสิ่งทอเป็นได้ทั้งงานศิลปะและงานหัตถกรรม ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง ศิลปะสิ่งทอและจิตรกรรมในเวลาปัจจุบัน มีปรัชญาและประสิทธิภาพที่ใกล้เคียง สิ่งที่พอจะเห็นว่า ต่างกัน คือ วิธีการปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติงานศิลปะสิ่งทอ อากัปกิริยาที่เห็นได้ชัดคือ การถักโดยใช้ด้ายหรือใยประเภทต่างๆ เพื่อสร้างภาพ หรือ วัตถุที่ต้องการ คำว่า textile มาจากภาษาลาติน texere ซึ่งแปลว่า to weave หรือการถัก ในขณะที่ปฏิบัติงานจิตรกรรม อากัปกิริยาที่เห็นได้ชัด คือ การปาด ป้าย ระบายวัสดุที่มีสีลงบนพื้นที่รองรับ คำว่า paint หมายถึง อากัปกิริยาในการทำให้วัสดุมีสีลงไปอยู่บนพื้นที่รองรับด้วยพู่กันหรือเครื่องมืออื่นๆ จากผลงานของสุนทรี เราเห็นอากัปกิริยาของเธอ “ถัก” ด้ายสีขาวและสีดำให้ออกมาเป็นชิ้นส่วนที่มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นเธอ “ซ้อน” สิ่งทอโปร่งทับเป็นชั้นๆ ลงบนแผ่นผ้าใบ เราสามารถเห็นสีของชั้นสิ่งทอได้ อากัปกิริยาตรงนี้ ไม่ใช่การถัก แต่เป็นอากัปกิริยาที่ทำให้วัสดุที่มีสีลงไปอยู่บนพื้นที่รองรับ ดิฉันจึงเห็นว่า ผลงานของเธอไม่ใช่จิตรกรรมหรือศิลปะสิ่งทออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันเป็นลูกผสมของศิลปะทั้งสองสายนี้
ประการที่สอง สุนทรีบอกว่า การถักทำให้จิตใจสงบ มีสมาธิ ถ้าเช่นนั้น เราก็ต้องมาดูว่า จิต คืออะไร จิตแบ่งออกเป็น 6 แบบ ได้แก่ 1. จิตคือสิ่งที่คิดเป็น 2. จิตเป็นสิ่งที่รู้สึกเป็น 3. จิตเป็นสิ่งที่จำได้ 4. จิตเป็นสิ่งที่มีอารมณ์ 5.จิตเป็นสิ่งที่รู้เป็น 6.จิตเป็นสิ่งที่อิสระ[1] ถ้าเราลองมาพิจารณาความหมายของจิตทั้ง 6 แบบ มันก็มีความเป็นไปได้ว่า การถักเพียงกิจกรรมเดียวทำให้เธอสามารถฝึกจิตเพื่อให้เกิดสมาธิได้ เราจะลองมาพิจารณากัน
จิตคือสิ่งที่คิดเป็น เป็นจิตที่สามารถวางแผนได้ นึกถึงเหตุการณในอดีตบ้าง อนาคตบ้างได้ เช่นนี้แล้ว สุนทรีก็ต้องใจจดจ่ออยู่กับเข็มและด้ายตลอดเวลา และคำนึงด้วยว่าตัวเองได้ถักอะไรไปบ้างแล้ว กำลังถักอะไรอยู่ และกำลังถักอะไรต่อไปในอนาคต นี่คือจิตที่คิดเป็น
จิตเป็นสิ่งที่รู้สึกเป็น เป็นจิตรู้สึกได้ในชีวิต รู้สึกสบาย รู้สึกไม่สบาย รู้สึกร้อน รู้สึกเย็น เป็นต้น เช่นนี้แล้ว ขณะถัก สุนทรีรู้สึกสบาย และไม่กระวนกระวาย นี่คือจิตที่รู้สึกเป็น
จิตเป็นสิ่งที่จำได้ คือความจำ โดยอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นนี้แล้ว สุนทรีจำ pattern หลายๆ แบบที่ตัวเองถักได้ โดยอาศัยมือ และตา นี่คือจิตเป็นสิ่งที่จำได้
จิตเป็นสิ่งที่มีอารมณ์ เช่น กลัว โมโห อิจฉา รัก หึงหวง ขี้เกียจ เช่นนี้แล้ว การที่สุนทรีรู้สึกขี้เกียจเป็นบางครั้ง นี่คือจิตเป็นสิ่งที่มีอารมณ์
จิตเป็นสิ่งที่รู้เป็น ที่มีความรู้ชนิดที่เรียกว่า สัญชาตญาณ ตั้งแต่ความรู้ที่โง่เขลา ไปจนถึงความรู้ที่ฉลาด เช่นนี้แล้ว การที่สุนทรีกังวลว่า สิ่งทอที่อยู่บนจิตรกรรมไม่เพียงพอกับการศึกษาในระดับปริญญาโท (ในขณะที่สัมภาษณ์เธอเพิ่งเริ่มทำวิทยานิพนธ์) นี่คือจิตเป็นสิ่งที่รู้เป็น
จิตเป็นสิ่งที่อิสระ คือไม่คับแคบ ไม่ตึงเครียด ไม่ยึดติด ไม่ถูกจำกัดโดยอะไร เช่นนี้แล้ว ถ้าเธอกังวล แล้วไม่ทำงานต่อ ก็จะแสดงว่าเธอมีจิตที่ไม่เป็นอิสระ แต่ในความเป็นจริง เธอก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เก็บความกังวลไว้ที่ตัวตลอดเวลา นี่คือจิตเป็นสิ่งที่อิสระ
การถักสิ่งทอและการซ้อนมันจนเป็นจิตรกรรม ทำให้สุนทรีได้ฝึกจิตใจให้สงบ เราสามารถรับรู้ได้ถึงภาวะสงบ และมีสมาธิของผลงาน
[1] http://www.novabizz.com/NovaAce/Spiritual/Spirituality.htm (ดูเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2554)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น