The way to art "เส้นทางสู่ศิลปะ"

The way to art "เส้นทางสู่ศิลปะ"
นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย "The way to Art" เส้นทางสู่ศิลปะ โดย นักศึกษาปริญญาโท สาขาจิตรกรรม คณะจิตรกรรมประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการแสดงความรู้ความสามารถทางการศึกษาหลังจากที่ได้เข้ามาศึกษาในระดับศิลปมหาบัณฑิต และในปี 2553 นี้ ภาควิชาได้คัดเลือกนักศึกษา 10 คน ได้แก่ นักรบ กระปุกทอง , รณชัย กิติศักดิ์สิน , เกรียงไกร กุลพันธ์ , สุเมธ พัดเอี่ยม , สุนทรี เฉลียวพงษ์ , พีรนันท์ จันทมาศ , วรรณพล แสนคำ , ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท , พิเชษฐ บุรพธานินทร์และวัลลภัคร แข่งเพ็ญแข อันมีผลงานการสร้างสรรค์ที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อตนเองและสภาพสังคมในปัจจุบัน ปัญญาแห่งการเรียนรู้ และเป็นการเผยแพร่ผลงานที่มีคุณค่าออกสู่สายตาสาธารณะชน

THE WAY TO ART

นิทรรศการเส้นทางสู่ศิลปะ The way to art มีกำหนดการแสดงผลงาน ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 4 ห้อง Stodio ในวันพฤหัสที่ 21 เมษายน ถึง วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม 2554

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

“...... จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน”

“...... จนกลายเป็นเรื่องเดียวกัน”

หัวใจสำคัญของพุทธศาสนา คือการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิด มนุษย์พึงปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น การปฏิบัตินั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบตั้งแต่การรักษาศีลห้า การพิจารณาถึงหลักธรรมคำสั่งสอน การเจริญภาวนา ตลอดการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นต้น อาจกล่าวได้ว่า เพื่อให้หลุดพ้น พุทธศาสนิกชนแทบไม่ต้องอาศัยภาพ วัตถุ หรือสิ่งของใดๆเลย พระพุทธศาสนาต้องการอุปกรณ์ที่น้อยที่สุด นั่นคือ สติและร่างกายที่สมบูรณ์ของผู้ปฏิบัติ ร่างกายของผู้ปฏิบัติทำหน้าที่คล้ายยานพาหนะที่สมควรได้รับการบำรุงรักษา ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องการ คือ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโลก อันเป็นสิ่งที่จะทำให้ร่างกายทำงานได้โดยไม่สะดุด

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานไปแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. 240 -312) ผู้เป็นจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์โมดิยะ แคว้นมคธ ทรงสร้างเจดียสถานเช่น สถูป และหลักศิลาจารึก เพื่อเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นอนุสาวรีย์ เตือนใจให้คนระลึกถึงพระพุทธเจ้าและหลักธรรมที่ท่านได้มอบไว้ให้จริงอยู่ที่ว่า ในช่วงขณะที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เรามีวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนา แต่วัดนี้เป็นเพียงสวนป่าไผ่อันร่มรื่น ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ เหมาะสำหรับอยู่บำเพ็ญธรรม เพราะฉนั้น การสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้า มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในยุคต่อมา

ในแง่การศึกษาประวัติศาสตร์ ศาสนสถานและศาสนวัตถุ เป็นสิ่งที่บ่งบอกยุคสมัย และความเจริญ/ ความเสื่อมทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมนุษย์ ในคราวที่บ้านเมืองสงบ ศาสนวัตถุและศาสนสถานแสดงให้เห็นถึงคุณธรรม จริยธรรม และความรู้ที่ดีงามของมนุษย์ ในยามที่ข้าวยากหมากแพง บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤต แนวความคิดของการเป็น “อนุสาวรีย์” หรือ “สิ่งที่เตือนให้ระลึก”ของศาสนสถานและศาสนวัตถุเริ่มเปลี่ยนไป แนวความคิดที่ว่า “สถานหรือวัตถุนี้มีอภินิหารสามารถแก้ไขความยากลำบากของมนุษย์ได้ ทำให้มนุษย์พ้นภัย แก้ผิดให้เป็นถูก แก้ความโชคร้ายให้เป็นความโชคดี ฯลฯ” เข้ามาแทนที่แนวความคิดแบบเดิม

ในปัจจุบัน จากที่ต้องการเพียงปัจจัยที่น้อยที่สุด เราเริ่มรู้สึกว่าเราต้องการศาสนสถานที่สวยงาม วิจิตรบรรจง ใหญ่โต เราต้องการองค์พระประธานที่สวยงามทำด้วยวัสดุที่ทรงคุณค่า เราเชื่อและศรัทธาในอำนาจของศาสนวัตถุที่สามารถดลบันดาลให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น อาจกล่าวได้ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น “มายาคติ” หรือ “ผลผลิตทางวัฒนธรรม” ที่เนื้อหาภายใน (content) ค่อยๆแยกตัวออกจากแก่นสำคัญของพุทธศาสนา

มันเป็นการยากที่จะแยกหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาออกจากมายาคติ มันคลุกเคล้าจนกลายเป็นเรื่องคนละเรื่องที่สามารถกลายเป็นเรื่องเดียวกัน แต่สิ่งที่ดิฉันเห็นคือ ศุภวัฒน์แสดงให้เห็น “ความเท่าทัน” ต่อมายาคติที่อยู่แวดล้อมตัวเขาได้อย่างสุภาพไม่โลดโผนแต่...ตรงไปตรงมา โดยปรกติแล้ว จิตรกรที่นับถือศาสนาพุทธน่าจะไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเดิมของรูปหรือภาพของพระพุทธเจ้า แต่... ศุภวัฒน์กล้าที่จะแยกแยะระหว่างหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา และกล้าที่จะนำเอาภาพพระพุทธเจ้า หรืออีกนัยหนึ่ง “มายาคติ” มาเป็นโจทย์ทางการศึกษา ในเงื่อนไขนี้ ดิฉันอยากเชิญชวนให้เราดูภาพพระพุทธเจ้าที่ปรากฏบนงานศุภวัฒน์เป็นภาพมายาคติ - ผลผลิตทางวัฒนธรรม- ที่มนุษย์สร้างขึ้น

ศุภวัฒน์ให้ความสำคัญกับวิธีการสร้างผลงานในลักษณะที่ต่างไปจากจิตรกรรมแบบธรรมเนียมปฏิบัติ ปรกติแล้ว จิตรกรรมคือผลงานทัศนศิลป์ที่จิตรกรระบายวัสดุ เช่น สีน้ำ สีน้ำมัน หรือ ปะติดวัสดุอื่นๆ ลงบนพื้นที่รองรับ เพื่อแสดงให้เห็นถึง“ภาพ” อันมีคุณสมบัติแสดงความลวง แต่จิตรกรรมของศุภวัฒน์ใช้วัสดุที่แตกต่างไป เขาใช้แสงไฟฟ้าเพื่อสร้างการเรืองแสง เราสามารถรับรู้ถึงคลื่นพลังงาน ความร้อนและอุณหภูมิของสีในแสงได้ แสงที่ปรากฎจึงไม่มีลักษณะเป็นการลวงในเชิงภาพ(pictorial illusion) แต่แสงไฟฟ้านี้ช่วยทำให้เรารับรู้ว่า ภาพนี้อยู่ในมิติที่ต้องการแสดงให้เห็นภาวะของจิตรกรรมตามความเป็นจริง มันเป็นภาวะของวัตถุโปร่งแสงที่ดูดซับแสงบางส่วนและปล่อยแสงที่ดูนุ่มนวลตาออกไป ศุภวัฒน์อธิบายว่า เขาไม่ต้องการให้แสงไฟฟ้ากระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกมากไปกว่า การส่องแสงเข้าไปสู่เนื้อหาทางความคิด การสร้างภาพให้สว่างและกระจ่าง บวกกับองค์ประกอบของภาพที่เรียบง่าย ชัดเจน เป็นการเชื้อเชิญให้คนดูเผชิญกับความตรงไปตรงมาของเรื่องที่ต้องการนำเสนอ

สิ่งที่แตกต่างอีกประการหนึ่ง คือ บทบาทของคนดูเปลี่ยนไป ผู้ชมมีบทบาทสำคัญและสามารถแบ่งออกเป็นสองระดับ ระดับแรก คือ ระดับทางกายภาพ ศุภวัฒน์อธิบายว่า การมีอยู่ของคนดูเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานสมบูรณ์ ถ้าไม่มีคนดูเดินเข้ามาในบริเวณที่จะกำหนด ภาพที่เสร็จก็จะไม่ได้ปรากฏ ร่างกายของผู้ชมเป็นตัวกำหนดการเปล่งและการดับของแสงที่เรืองรองออกมาจากพระวรกายของพระพุทธเจ้า ระดับที่สองคือระดับการตระหนักรู้ ถ้าคนดูไม่ได้เห็น ภาวะเปล่งแสงและไร้แสงของจิตกรรม การตระหนักถึงภาพอันสำเร็จที่ถูกแบ่งให้อยู่ทั้งสองภาวะก็จะไม่เกิดขึ้น

ประการสุดท้าย จิตรกรรมแบบธรรมเนียมปฏิบัติมีเพียงภาวะเดียว และเป็นภาวะที่สมบูรณ์ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จิตรกรรมของศุภวัฒน์ไม่ได้มีเพียงภาวะเดียว เราไม่สามารถอ่านและทำความเข้าใจจิตรกรรมในภาวะที่เรืองแสง โดยไม่ต้องระลึกถึงภาวะที่ไร้แสง อาจกล่าวได้ว่า จิตรกรรมชุดนี้มีทวิภาวะ และไม่ว่าจิตรกรรมจะอยู่ในภาวะไหนก็ตาม แต่ละภาวะต่างก็ไม่ใช่ภาวะที่สมบูรณ์ที่สุดอธิบายให้ง่ายขึ้น คล้ายกับการที่เรามองไปในห้องมืดที่ไร้แสงไฟ หรือห้องๆเดียวกันที่สว่างไสว เราไม่สามารถบอกได้ว่า ห้องมืดห้องสว่าง หรือห้องสลัว ภาวะไหนที่แสดงความเป็นจริงอันสมบูรณ์ของห้องได้มากกว่ากัน ฉันใดก็ฉันนั้น แสงสร้าง “มายาคติ” ให้กับภาพจิตรกรรม คนดูต้องพิจารณาภาวะต่างๆและไม่เร่งด่วนตัดสินใจว่าภาวะใดเป็นภาวะที่จริงแท้ที่สุด เพราะท้ายที่สุดแล้ว แต่ละภาวะอาจจะไม่ใช่ภาวะจริงแท้อันสมบูรณ์เลย ตรงนี้เอง ศุภวัฒน์กระตุ้นให้เราคิดและเท่าทันมายาคติของภาพพระพุทธเจ้าที่อยู่ตรงหน้าและที่แวดล้อมตัวเราอยู่

Text : ดร.เตยงาม คุปตะบุตร,

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น